วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

ขั้นตอนการส่งออกสินค้า

ขั้นตอนการส่งออกสินค้า

      ธุรกิจการส่งออก นับว่าเป็นธุรกิจอีกแขนงหนึ่งที่มีความสำคัญต่อผู้ประกอบการเองและประเทศชาติ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สามารถนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทยเราเป็นจำนวนมากในปีหนึ่งๆ และรายได้เหล่านี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกนำมาใช้พัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น
     ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจการส่งสินค้าออกของไทยประสบความสำเร็จ และมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาในธุรกิจนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ขั้นตอนและกระบวนการปฏิบัติต่างๆ ในการส่งออกสินค้าให้ดีเสียก่อน
     เนื่องจากขั้นตอนการส่งออกสินค้า เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจส่งออก จะต้องทำความเข้าใจและศึกษาข้อปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อให้การประกอบธุรกิจส่งออกเป็นไปอย่างสะดวกและได้รับผลสำเร็จคุ้มค่ากับความตั้งใจการลงทุน

ขั้นตอนการส่งออกประกอบด้วย

1. การจดทะเบียนพาณิชย์
2.  การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการขอมีเลขและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
3. เสนอขายและรับการสั่งซื้อ
4. การเตรียมสินค้า
5. ติดต่อขนส่ง
6. จัดเตรียมเอกสารเพื่อการส่งออก
7. ติดต่อผ่านพิธีการศุลกากร
  พิธีการตรวจเอกสาร
  พิธีการตรวจสินค้า
8. การส่งมอบสินค้า
9. การเรียกเก็บเงินค่าสินค้า
10. ขอรับสิทธิประโยชน์



วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

แนวทางการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย

แนวทางการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย ปี 2552-2556 (รายละเอียด)
·         การเจรจาระดับพหุภาคี ร่วมผลักดันให้การเจรจารอบโดฮาสำเร็จโดยเร็ว
·         การเจรจาระดับภูมิภาค ให้ความสำคัญกับการเจรจาร่วมกับอาเซียนเป็นลำดับแรก ทั้ง ASEAN Economic Community (AEC) และการเจรจา FTA ของอาเซียนกับคู่เจรจา (ASEAN FTA)
·         การเจรจาระดับทวิภาคี
1) ให้ความสำคัญกับการเจรจาที่ค้างอยู่ โดยประเมินประโยชน์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมปรับตัวรองรับ
2) เจรจากับประเทศใหม่ที่มีศักยภาพ ได้แก่ GCC Mercosur และชิลี
3) สร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพ เช่น รัสเซีย แอฟริกาใต้ เป็นต้น

เขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA)

เขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) หมายถึง การรวมกลุ่มเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างกันภายในกลุ่มลงให้เหลือน้อยที่สุด หรือเป็น 0 % และใช้อัตราภาษีปกติที่สูงกว่ากับประเทศนอกกลุ่ม การทำเขตการค้าเสรีในอดีตมุ่งในด้านการเปิดเสรีด้านสินค้า (goods) โดยการลดภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีเป็นหลัก แต่เขตการค้าเสรีในระยะหลังๆ นั้น รวมไปถึงการเปิดเสรีด้านบริการ (services) และการลงทุนด้วย - เขตการค้าเสรีที่สำคัญในปัจจุบัน คือ AFTA และ NAFTA ซึ่งขณะนี้สหรัฐฯ อยู่ในระหว่างการเจรจาทำเขตการค้าเสรีในภูมิภาคอเมริกา (Free Trade Area of the Americas : FTAA) โดยตั้งเป้าหมายที่จะให้การเจรจาเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2548


สาเหตุที่ประเทศต่างๆ จึงให้ความสนใจจัดทำเขตการค้าเสรี เนื่องจาก
     1) การเปิดเจรจาการค้ารอบใหม่ของ WTO ล่าช้า ประเทศต่างๆ จึงได้หันมาพิจารณาจัดทำเขตการค้าเสรีมากขึ้น เพื่อให้มีผลคืบหน้าในการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าและรวดเร็วกว่าการเปิดเสรีในกรอบ WTO

     2) การที่จีนเข้าเป็นสมาชิกของ WTO ทำให้ประเทศต่างๆ เกิดความหวั่นเกรงต่อศักยภาพด้านการแข่งขันของจีน เนื่องจากจีนเป็นประเทศใหญ่ที่จะขยายบทบาทอำนาจทางเศรษฐกิจได้มาก จากความได้เปรียบของตลาดภายในที่มีขนาดใหญ่ มีประชากรจำนวนมหาศาลและมีแรงงานราคาถูก จึงสามารถรองรับการผลิต การบริโภค และมีศักยภาพในการส่งออกสูง เมื่อจีนได้เข้าเป็นสมาชิก WTO จะได้รับสิทธิเท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ ประเทศต่างๆ ทั้งที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา จึงต้องปรับนโยบายและกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

     3) การทำเขตการค้าเสรีเป็นการให้แต้มต่อ หรือให้สิทธิพิเศษทางการค้าและการลงทุนแก่ประเทศที่เข้าร่วมโดยไม่ขัดกับ WTO (หากปฏิบัติตามเงื่อนไข) ซึ่งจะทำให้มีการขยายการค้าและการลงทุน ระหว่างประเทศที่ร่วมทำเขตการค้าเสรี และในทางกลับกัน ก็เท่ากับส่งผลกระทบต่อประเทศที่อยู่นอกกลุ่มที่จะค้าและลงทุนกับประเทศที่อยู่ในกลุ่มเขตการค้าเสรีได้น้อยลง จึงเป็นแรงกระตุ้นให้หันมาพิจารณาจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศอื่นด้วยเช่นกัน

     4) หลายประเทศได้ใช้การจัดทำเขตการค้าเสรีเป็นยุทธวิธีในการสร้างพันธมิตรด้านเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งเป็นการสร้างฐานในการขยายการค้าและการลงทุนกับประเทศหรือกลุ่มประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลด้วย

     5) ประเทศที่มีพื้นที่ขนาดเล็กแต่มีระบบเศรษฐกิจที่เปิดเสรีเต็มที่อยู่แล้ว เช่น สิงคโปร์ และชิลี ได้ใช้ยุทธวิธีนี้อย่างแข็งขัน เนื่องจากมีระดับการเปิดเสรีสูง จึงมีโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดของประเทศที่ร่วมทำเขตการค้าเสรีได้มาก เช่น สิงคโปร์ทำเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่น เป็นต้น


หลักการในการจัดทำเขตการค้าเสรีของประเทศไทย มีดังนี้

     1) การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ควรทำในกรอบกว้าง (Comprehensive) ครอบคลุมการเปิดเสรีทั้งการค้าสินค้าและบริการ และการลงทุน รวมทั้งการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างไรก็ตามควรมีความยืดหยุ่น (Flexibility) ให้สอดคล้องกับระดับการพัฒนาของประเทศคู่เจรจาเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

     2) การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีควรให้สอดคล้องกับกฎของ WTO ซึ่งมีเงื่อนไขให้การเปิดเสรีครอบคลุมการค้าสินค้า/บริการอย่างมากพอ (Substantial) สร้างความโปร่งใส และเปิดให้สมาชิกอื่นตรวจสอบความตกลง

     3) การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ควรยึดหลักการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (Reciprocate) และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยคำนึงถึงสถานะของไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาในกรณีที่คู่เจรจาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ไทยควรเรียกร้องความยืดหยุ่นเพื่อให้มีเวลาในการปรับตัวนานกว่า หรือทำข้อผูกพันในระดับต่ำกว่า

     4) การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ควรให้ครอบคลุมเรื่องมาตรการสุขอนามัย และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอื่นๆ (NTM) ด้วย

     5) ความตกลงเขตการค้าเสรี ควรมีมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นกลไกในการป้องกันผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในและหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามพันธกรณี เช่น มาตรการ AD, CVD การใช้มาตรการคุ้มกัน (Safeguards) การใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร ซึ่งทำให้การดำเนินการตามพันธกรณีไม่มีผลในการเปิดตลาด รวมทั้งกำหนดกลไกการยุติปัญหาหรือข้อพิพาทอย่างเป็นธรรม

     6) ในการจัดทำเขตการค้าเสรีควรให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว ทั้งนี้ อาจมีการเจรจา ตกลงในเรื่องที่จะเป็นการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ระหว่างกันก่อน (Early Harvest)

โลจิสติกส์

ความรู้เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce)